สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ต้นอ้อย รีสอร์ท

หาดทรายแก้ว อ.สิงหนคร

          อีกหนึ่งหาดท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา โดยชายหาดตั้งอยู่บริวเณฝั่งทะเลตรงข้ามกับแหลมสนอ่อน และอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองไป ประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายสงขลา-สทิงพระ
     หาดทรายแก้ว เป็นชายหาดที่มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาดตา และมีลำคลองเล็กๆขนานกับแนวหาด ที่สำคัญคือน้ำทะเลหน้าหาดยังเหมาะแก่การ เล่นน้ำ เนื่องจากน้ำยังใสสะอาดมาก นอกจากนี้แล้วที่ชายหาดแก้วมีที่พักบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ตั้งอยู่ถัดจากสวนสองทะเลส่วนหัวพญานาคพ่นน้ำประมาณ 300 เมตร มีอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กับสวนสวนร่มรื่น ด้านหน้าอนุสาวรีย์ติดทะเล มีปืนใหญ่จำลองทิวทัศน์สวยงาม

 

พระประวัติ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาโหมด พระนามเดิมพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2423 สิ้นพระชนม์ วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 ทรงศึกษาสำเร็จวิชาทหารจากโรงเรียนนายเรือ ประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในรัชกาลที่ 5 ได้วางรากฐานปรับปรุงราชนาวีไทย ให้มีสมรรถภาพทัดเทียมอารยประเทศ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในรัชกาลที่ 6 กองทัพเรือไทยรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นสืบมาถึงปัจจุบันด้วยพระอัจฉริยะปรีชาชาญ จึงน้อมถวายพระสมัญญานามว่า องค์บิดาของทหารเรือไทย กองทัพเรือร่วมกับชาวจังหวัดสงขลาและกลุ่มอาสาป้องกันชาติในทะเลจังหวัดสงขลา
สำนึกในพระกรุณาจึงพร้อมใจกันสร้างพระอนุสาวรีย์นี้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะสืบไป

เขาตังกวน วิหารแดง

เป็นเนินเขาสูง จากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุตบนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี (อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต) โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้พระราชทานเงินหลวงให้เป็นทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (ร.9) ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์
     จากยอดเขาตังกวนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ สามารถขึ้นไปเที่ยวชมได้ มีบันไดอยู่ทางถนนราชดำเนินใน ทุกๆ ปีในเดือนตุลาคม จะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ และประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระของสงขลา ก่อนจะถึงยอดเขายังมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ)
     ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามหาราช (ร.5) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น (2432) ในครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสแหลมมาลายู และได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชดำริของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสร้างเสร็จในปี 2440
      นอกจากนี้บริเวณยอดเขาตังกวน ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของสงขลาแห่งหนึ่ง และมีลิฟท์บริการขึ้นสู่ยอดเขา ไม่ต้องเดินกันให้เหนื่อยด้วยค่าบริการคนละ 20 บาท โดยเปิดบริการเวลา 10.00-19.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ และ 8.00-19.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0 7431 6330

หาดสมิหลา สงขลา

อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตลาดทรัพย์สิน (ตลาดสดเทศบาล) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวสนอันร่มรื่น บริเวณชายหาดจะมีรูปปั้นนางเงือกอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยรูปปั้นแมวและหนูที่บอกเล่าตำนานของเกาะหนูเกาะแมว โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ดูร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น มีทางวิ่งออกกำลังกาย รวมทั้งจุดชมวิวที่มีทิวทัศน์ของ เกาะหนูเกาะแมว เป็นฉากหลัง

      เกาะหนูเกาะแมว เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของแหลมสมิหลา ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนาน ๆ เกิดความเบื่อหน่าย จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามว่ายน้ำหนีลงจากเรือโดยที่หนูอมดวงแก้วเอาไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไปจึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็น “เกาะหนูเกาะแมว” อยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย และกลายเป็นหินบริเวณ “เขาตังกวน” อยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูแตกละเอียดกลายเป็น “หาดทรายแก้ว” อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสน 

สะพานติณสูลานนท์

คือ แลนด์มาร์กและอนุสรณ์สถานที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงหมายเลข 4083 สายสงขลา-ระโนด
     โดยเป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจากฝั่งบ้านน้ำกระจายผ่านเกาะยอ ไปฝั่งเขาเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ บริเวณฝั่งหัวเขาแดง
     สะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมือง สงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับชายฝั่งตอนใต้ของเกาะยอ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน ประมาณ 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม 2527 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529

เจดีย์สองพี่น้องพระองค์ขาวและพระองค์ดำ บนยอดเขาแดง

บนยอดเขาแดงมีเจดีย์ 2 องค์ องค์แรกเป็นเจดีย์องค์พี่ ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพัง มีสีดำ คนทั่วไปเรียกว่า “เจดีย์องค์ดำ” สร้างเมื่อ พ.ศ.2375 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ส่วนเจดีย์องค์ที่สองเป็นเจดีย์องค์น้อง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมเช่นกัน องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีสีขาว คนทั่วไปเรียก “เจดีย์องค์ขาว” สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2382-2484 โดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ ผู้เป็นน้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาพระคลังฯ ชาวบ้านเรียกเจดีย์สององค์นี้ว่า “เจดีย์สองพี่น้อง” ระหว่างองค์เจดีย์ทั้งสองมีศาลาเก๋งจีน ชำรุดเหลือแต่พื้นที่ผนังที่เจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม ปัจจุบันองค์เจดีย์ทั้งสองได้รับการขุดแต่งบูรณะจากหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2525 การเดินทางไปเขาแดง ถ้ามาจากฝั่ง อ.เมืองสงขลา ให้ขึ้นแพขนานยนต์มา พอถึงฝั่งเขาแดงแล้วเลี้ยวขวาเดินมาไม่นาน จะพบป้ายและบันไดทางขึ้น ซึ่งค่อนข้างสูงชัน ขึ้นไปสักระยะ จะมีป้ายชี้ไปทางซ้ายมือ